ประกันสุขภาพที่คนรุ่นใหม่ควรรู้ เลือกประกันสุขภาพให้เหมาะกับความเสี่ยง และไลฟ์สไตล์ของคุณ
ความเสี่ยงการจากเกิดอุบัติเหตุ
“ความแน่นอน คือ ความไม่แน่นอน” วลีนี้เป็นสิ่งที่สามารถอธิบายถึงการใช้ชีวิตของคนทุกยุคทุกสมัยได้เป็นอย่างดี เพราะในทุก ๆ วันที่เราตื่นขึ้นมาก็มีความเสี่ยงที่อาจเกิดการสูญเสียได้ทุกขณะ โดยความเสี่ยงที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย
แม้ว่าหลายคนจะประกอบอาชีพพนักงานบริษัททั่วไปแต่ก็มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยง เช่น ช่างไฟฟ้า, ช่างมุงหลังคา, นักบิน หรือคนขับรถ ฯลฯ ล้วนเป็นอาชีพที่มีเปอร์เซ็นต์ในการเกิดอุบัติเหตุสูงทั้งสิ้น ซึ่งในบางครั้งอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันอาจสร้างภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงมากจนทำให้หลายคนไม่สามารถรับการรักษาที่มีประสิทธิภาพได้
ความเสี่ยงด้านสุขภาพ
ในปัจจุบันการเกิดโรคภัยไข้เจ็บร้ายแรง เป็นสิ่งที่สามารถเกิดได้กับทุกคน เพราะอากาศที่มีมลพิษเจือปนอยู่ทุกหนแห่งและเชื้อโรคที่เจือปนอยู่ในอาหาร เช่น โคโรน่าไวรัส (Covid-19) ที่กำลังแพร่ระบาดเกือบทุกพื้นที่ของโลก และยังไม่มีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากพอในการรักษา
ประกันชีวิต และประกันอุบัติเหตุจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่ต้องการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนในครอบครัว อีกทั้งยังสามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ด้วย ทำให้คนรุ่นใหม่มีความสนใจ และตระหนักถึงความเสี่ยง ที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา จึงควรศึกษาการทำ ประกันโรคร้าย และ ประกันอุบัติเหตุ เอาไว้ โดยประกันทั้ง 2 แบบ มีรายละเอียด ดังนี้
ประกันโรคร้าย
เป็นหลักประกันเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโรคร้ายแรงต่าง ๆ เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลโรคร้ายแรงมีมูลค่าที่สูงมาก การทำประกันชนิดนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น มีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคร้ายแรงที่สามารถส่งทอดทางพันธุกรรมได้ เป็นต้น โดยประกันจะให้ความคุ้มครองตั้งแต่ระยะแรกไปจนถึงระยะสุดท้าย ซึ่งหลายคนอาจมีข้อสงสัยว่า โรคร้ายแรง มีอะไรบ้าง ? หากอิงตามคำนิยามโรคร้ายแรงที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนดเอาไว้จะมีถึง 50 โรค คือ โรคอัลไซเมอร์, โรคโลหิตจางจากไขกระดูกไม่สร้างเม็ดโลหิต, โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ, เนื้องอกในสมอง, ตาบอด, มะเร็งระยะลุกลาม, กล้ามเนื้อหัวใจ, ตับวาย, โรคหลอดลมปอดอุดกั้นเรื้อรังขั้นรุนแรงหรือโรคปอดระยะสุดท้าย, ภาวะโคม่า, โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ, การผ่าตัดเส้นเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ, กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด, การผ่าตัดลิ้นหัวใจโดยวิธีการเปิดหัวใจ, ไตวายเรื้อรัง, การสูญเสียการได้ยิน, การสูญเสียการดำงชีพอย่างอิสระ, การทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง, การสูญเสียความสามารถในการพูด, แผลไหม้ฉกรรจ, การบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง, การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะหรือปลูกถ่ายไขกระดูก, โรคของเซลล์ประสาทควบคุมการเคลื่อนไหว, โรคระบบประสาท, โรคกล้ามเนื้อเสื่อม, โรคไวรัสตับอักเสบขั้นรุนแรง, โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ, อัมพาตของกล้ามเนื้อแขนหรือขา, โรคพาร์กินสัน, โรคแรงดันในหลอดเลือดแดงปอดสูงแบบปฐมภูมิ, ภาวะข้ออักเสบรูมาตอยด์ชนิดรุนแรง, โรคหลอดเลือดสมองแตกหรืออุดตัน, การผ่าตัดเส้นเลือดแดงใหญ่, ไตอักเสบ, สมองอักเสบจากเชื้อไวรัส, ภาวะอะแพลลิก, โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง, โรคหลอดเลือดสมองที่ต้องได้รับการผ่าตัดลอกหลอดเลือดแดงคาโรติด, การฉีกขาดของรากประสาทต้นแขน, โรคโปลิโอ, การผ่าตัดกระดูกสันหลังคด, ภาวะตับอ่อนอักเสบที่กลับเป็นซ้ำและเรื้อรัง, โรคเท้าช้าง, โรคถุงน้ำในไต, โรคเนื้อเยื่อพังผืดอักเสบติดเชื้อและเป็นเนื้อตาย, โรคหนังแข็งชนิดลุกลาม, โรคลำไส้อักเสบเป็นแผลรุนแรง, โรคมะเร็งระยะไม่ลุกลาม, โรคหลอดเลือดสมองโป่งพองที่รักษาโดยใช้ขดลวดผ่านสายสวนทางหลอดเลือด และโรคหลอดเลือดสมองที่ได้รับการรักษาโดยวิธีใส่สายสวนเส้นเลือดแดงบริเวณคอ ทั้งนี้ประกันแต่ละบริษัทแต่ละกรมธรรมภ์จะคุ้มครองโรคร้ายใดบ้างนั้นขึ้นอยู่กับรายละเอียดที่ทางบริษัทกำหนด
ประกันอุบัติเหตุ
เป็นประกันที่ให้การคุ้มครองเมื่อผู้ทำประกันเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บ สูญเสียอวัยวะ หรือเสียชีวิต โดยประกันจะเป็นผู้ดูแลค่ารักษาพยาบาลให้กับผู้ทำประกัน และจ่ายเงินชดเชยให้กับตามเงื่อนไขที่บริษัทกำหนด ซึ่งประกันชนิดนี้จะแบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ ประกันส่วนบุคคล ผู้ทำประกันสามารถสมัครทำประกันกับบริษัทประกันที่ต้องการได้ด้วยตัวเอง, ประกันกลุ่ม เป็นประกันที่ทางบริษัท/ห้าง/ร้านทำให้กับพนักงาน หรือทำพร้อมกันเป็นครอบครัวและประกันสำหรับนักเรียน/นักศึกษาที่สถานศึกษาทำให้
การเลือกประกันที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ผู้ทำประกันควรให้ความสำคัญ เพราะหากมีความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายแรงน้อยแต่เลือกทำประกันสุขภาพสำหรับโรคร้าย และมองข้ามการทำประกันสำหรับบรรเทาความเสี่ยงหากเกิดอุบัติเหตุก็จะทำให้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินผู้ทำประกันก็จะไม่ได้รับค่าชดเชยในการรักษาพยาบาลจากการเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้การทำประกันตั้งแต่อายุยังน้อยยังทำให้ได้รับสิทธิประโชน์ในการจ่ายเบี้ยประกันในราคาถูกกว่าด้วย ดังนั้นคนรุ่นใหม่จึงควรทำประกันเอาไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
ทั้งนี้ในการทำประกันก็มีข้อควรระวัง โดยเฉพาะการทำประกันสุขภาพสำหรับโรคร้ายแรงควรอ่านรายละเอียดให้ดีก่อนว่าคุ้มครอง โรคร้ายแรงอะไรบ้าง เพื่อป้องกันการเสียผลประโยชน์ในภายหลัง